วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชี้“รถคันแรก"ปัญหาเพียบ นำคดีเข้าสู่ศาลอื้อ

วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมเนติศร ชั้น10 อาคารศาลแพ่งกรุงเทพใต้   ถนนเจริญกรุง ซอย 63 นายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา ได้เป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการ “โครงการรถยนต์คันแรกกับการผิดสัญญาเช่าซื้อ” โดยมีนายประพาฬ อนมาน อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ รองอธิบดี ข้าราชการ และลูกจ้างให้การต้อนรับ พร้อมนักกฎหมาย นักธุรกิจด้านรถยนต์ และประชาชนผู้สนใจ ประมาณ 300 คนเข้าร่วมสัมมนา
โดย นายฉลอง นิ่มเนียม หัวหน้าส่วนคดี กรมสรรพสามิต กล่าวว่าขณะนี้ ทางกรมฯได้ทยอยจ่ายเงินภาษีคืนไปแล้ว 17 งวด รวมจ่ายเงินคืนแล้ว 5 หมื่นล้านบาท  และเดือนก.ย.56 คาดว่าจะจ่ายเงินคืนแก่ผู้มีสิทธิอีก 2 แสนคัน และในปี 57 จะมีผู้ทยอยรับรถยนต์อีก 6 แสนคัน ปัญหาคือถ้าผู้เช่าซื้อเสียชีวิตก่อนชำระครบเวลาถือครองรถยนต์ 5 ปี  ก็จะนำมาซึ่งปัญหาว่า จะต้องโอนเงินภาษีคืนแก่รัฐ  และถ้าเป็นกรณีรถยนต์หายระหว่างเช่าซื้อ และประกันภัยจ่ายค่าสินไหมแก่ผู้ซื้อแล้ว ผู้ซื้อต้องคืนเงินภาษีแก่รัฐ
นายอนุชาติ ดีประเสริฐ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า มาตรการรถคันแรกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์  แต่ทำให้รถติดมากขึ้นเช่นกัน มียอดผู้ใช้สิทธิ์จำนวน 1.25 ล้านคัน ตอนนี้ช่วง 4 เดือน แรกขายรถไปแล้ว 5 แสนคัน กำลังจะส่งรถยนต์ล็อตใหญ่ในปี 57 แต่ปัญหา คือ ผู้ซื้อเริ่มไม่ไปรับรถ คาดว่าร้อยละ 20 อาจเป็นเพราะไม่มีกำลังผ่อนส่ง ไฟแนนซ์ไม่ผ่าน กับพวกที่ขอยกเลิกการสั่งจองไปเลย เพราะยอมรับเงื่อนไขไม่ได้
ทั้งนี้มีรถยนต์ที่ออกมาหลังมาตรการคืนเงิน1 แสนบาทในบางยี่ห้อ มีโปรโมชั่นดีกว่า ทางสมาคมฯ พบว่ายอดซื้อรถ จองรถทั้งหมดมีร้อยละ 90 เป็นรถเงินผ่อน และหากคนเหล่านี้ผ่อนชำระไม่ได้ ผู้เช่าซื้อควรไปเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ และหากผ่อนไม่ไหวจริงๆก็ต้องขายรถแต่เงิน 1 แสนบาทที่รับไปต้องคืนรัฐ
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ กล่าวว่า มียอดผู้บริโภคขอกู้เงินไปผ่อนรถจำนวนมากกว่า 1 รายการ ทางไฟแนนซ์ จะส่งข้อมูลบัญชีกู้มาทางระบบเครดิตบูโร ปัจจุบันมีมากถึง 67ล้านบัญชี เฉพาะปี 56 มีเข้ามาสูง 8 ล้านรายการบัญชี ดังนั้นการอนุมัติเงินกู้จึงต้องเข้มงวดมากขึ้นโดยมีการเรียกตรวจสอบถึง 1 ล้านรายการต่อเดือน โครงการรถคันแรกมีส่วนทำให้ยอดบัญชีมากขึ้นจนตนสงสัยว่า จะเอาถนนที่ไหนวิ่ง เพราะหากเอาถนนทั้งหมดในกรุงเทพมาให้รถมาจอดเรียงกันก็จะได้เพียง 1.2 ล้านคันเท่านั้น ยังไม่นับรถที่จองยังไม่ไปรับ จนกังวลว่าโครงการรถคันแรกโตแบบก้าวกระโดด และหากผ่อนรถไม่ไหว 2 งวดติดกัน เจ้าหนี้จะต้องเรียกผู้ซื้อรถมาพบแน่ ที่สุดแล้วก็จะเกิดคดีเข้าสู่ศาล
 
นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)  กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยไม่ออมเงินก่อนแล้วค่อยใช้เงิน แต่กลายเป็นกู้ก่อนแล้วผ่อนใช้ และเปลี่ยนจากออมเงินเป็นออมทองคำแทน  ทั้งที่ทองคำไม่น่าออม คนไทยเป็นหนี้ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าบัตรเครดิต  กับสินเชื่อส่วนบุคคล กับสินเชื่ออื่นๆ ยอดซื้อรถสูงถึง1.5 ล้านคันในปี55 ส่วนใหญ่จะผ่อนส่ง นำมาซึ่งหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น เงินที่กู้มาก็ไม่เอาไปลงทุนแต่เอามาใช้จ่าย ทาง ธปท.จะทำหน้าที่ดูระบบการให้สินเชื่อว่ามีการชำระหนี้คืนหรือไม่ จึงเป็นประเด็นต้องติดตามดูต่อไป
 
นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวปิดท้ายว่า การจองรถซื้อรถเป็นเรื่องของการแสดงเจตนาที่ผู้ซื้อมุ่งก่อนิติสัมพันธ์กับผู้ขาย ปัญหาคือการขาดส่งค่างวด ปี55 มีฟ้องกันแล้ว32คดี ศาลวิเคราะห์ปัญหาเช่าซื้อพบว่า แม้สัญญาเป็นเครื่องการแสดงเจตนาเท่าเทียมกันแต่ผู้บริโภคไม่มีใครกล้าขอเปลี่ยนแปลงสัญญาสำเร็จรูป เป็นเรื่องอำนาจการต่อรองที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งหากทำสัญญากันแล้วศาลจะไม่ยุ่ง ยกเว้นพบว่าเป็นสัญญาไม่เป็นธรรม และขัดต่อปัญหาความสงบสุขเอาเปรียบประชาชน ศาลจะแก้ไขให้ ตัวอย่างเช่น จองรถ 1 คัน ขาดส่งโดนฟ้อง ไฟแนนซ์ตั้งฟ้องมีคำขอท้ายฟ้อง เรียกรถที่ค้างคืน ค่าเช่าซื้อที่ค้างคืน ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้รถ ค่าติดตามทวงคืนรถ ค่าดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งเป็นหนี้ซ้ำซ้อน ดังนั้นเมื่อซื้อรถ 1 คัน ราคา1ล้านบาท ผ่อนไป 3 แสนบาทแล้วขาดส่ง หนี้จะท่วมกลายเป็นรถคันละ1.5ล้านบาท ไฟแนนซ์ก็ตั้งฟ้องมา1.5 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ถ้าศาลพิพากษาไปตามที่โจทก์ฟ้องมาอย่างนี้ศาลก็กลายเป็นตรายางให้โจทก์
 
“ศาลจะดูว่า ไม่ให้ไฟแนนซ์เสียหาย ไม่ให้ขาดทุน แต่ไฟแนนซ์จะต้องไม่เรียกซ้ำซ้อน ดอกเบี้ยศาลก็จะให้ตามกฎหมาย แต่หากลูกหนี้ไม่ผ่อนส่ง จึงจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ รวมถึงค่าเสื่อมราคา และชดเชยค่าเสียหายแก่ไฟแนนซ์  ศาลจะดูแลไม่ให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่คำพิพากษาไม่ใช่ทางออกสุดท้ายของข้อพิพาท แต่ศาลยังมีระบบระงับข้อพิพาทเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งด้วย “นายสิทธิศักดิ์กล่าวตอนท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น